สุขภาพ

เตือน 'คนอ้วน' เสี่ยงมากกว่า 10 โรค




เตือน "คนอ้วน" เสี่ยงมากกว่า 10 โรค แพทย์แนะวัดดัชนีมวลกาย “ปิ๊ก น้ำหวาน” แฉกินยา-กาแฟลดอ้วน สาเหตุน้ำหนักพุ่ง...
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ตึก ภปร. รพ.จุฬาลงกรณ์ มีการจัดสัมมนา “แพทย์เตือนภัย หยุดภาวะโรคอ้วน กรณีศึกษาจากประสบการณ์จริง” โดยมีการเชิญนายอัฐพล แดงดำคูณ หรือ ปิ๊ก น้ำหวาน ซึ่งเคยเข้ารับการรักษาโรคอ้วนที่ รพ.จุฬาฯ ด้วยน้ำหนักตัว 350 กก. เมื่อช่วงเดือน ส.ค. ปี 2553 และทีมแพทย์ รพ.จุฬาฯ ได้ใช้เวลารักษา 4 เดือน จนปัจจุบัน ปิ๊กมีน้ำหนักเหลือเพียง 91 กก. ร่วมสัมมนาด้วย
ทั้งนี้ นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคอ้วน คือผู้ที่มีความอ้วนแล้วมีโรคแทรกซ้อน สำหรับผู้ที่มีความอ้วนแล้วเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน คือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ซึ่งสามารถคำนวณได้ด้วยตัวเอง โดยนำน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยผลคูณของส่วนสูงเป็นเซนติเมตร ก็จะได้ค่าดัชนีมวลกาย สำหรับโรคแทรกซ้อนที่จะเกิดกับผู้ที่เป็นโรคอ้วนนั้นจะมีมากกว่า 10 โรค เช่น โรคเส้นเลือดสมองอุดตัน หยุดหายใจขณะนอนหลับ ความดันเส้นเลือดปอดสูง นิ่วถุงน้ำดี เบาหวาน เป็นต้น
นพ.สุเทพ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ในการรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือกลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกายไม่เกิน 35 จะใช้วิธีการคุมปริมาณอาหารลดแป้ง น้ำตาล และไขมัน ร่วมกับการออกกำลังกาย ส่วนอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 35 โดยการรักษาจะใช้วิธีการลดขนาดกระเพาะอาหาร และลดการดูดซึมของกระเพาะอาหาร ซึ่งจะใช้วิธีการผ่าตัดได้ 3 วิธี คือ 1. การรัดกระเพาะอาหารโดยใช้ซิลิโคนทางการแพทย์รัดส่วนต้นของกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้อิ่มเร็วขึ้น 2. การตัดกระเพาะอาหารส่วนใหญ่ที่ขยายออกได้ออกให้เหลือเป็นหลอดของกระเพาะอาหารแทน และ 3. การตัดลดขนาดของกระเพาะอาหารและทำบายพาสลำไส้ ซึ่งจะทำให้กระเพาะอาหารมีขนาดเล็กลง โดยวิธีนี้เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด
ทั้งนี้ที่ รพ.จุฬาฯ ได้มีการผ่าตัดรักษาผู้ที่เป็นโรคอ้วนมาแล้ว 100 ราย โดยมีน้ำหนักเฉลี่ยก่อนรักษาตั้งแต่ 87-280 กก. ซึ่งสามารถลดน้ำหนักให้กับผู้ป่วยได้เฉลี่ยคนละ 50 กก. และจากการติดตามผลหลังการผ่าตัดพบว่าผู้ป่วยทุกคน มีอาการดีขึ้นจากโรคแทรกซ้อน โดยร้อยละ 82 หายขาดจากโรคเบาหวาน ขณะที่ร้อยละ 60 หายขาดจากโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด และโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ด้านปิ๊ก น้ำหวาน กล่าวว่า สาเหตุที่ตนมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น มาจากการที่ตนอยากสวย เพื่อเข้าประกวดนางงามสาวประเภทสอง ซึ่งในช่วงนั้นตนมีน้ำหนัก 180 กก. จึงอยากลดความอ้วน และหันไปกินยาลดความอ้วน รวมถึงกาแฟลดน้ำหนักด้วย แต่พอหยุดกินเพื่อจะเปลี่ยนยี่ห้อ น้ำหนักก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีน้ำหนักอยู่ที่ 350 กก. ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ภายในเวลาแค่ 7 วัน จึงได้คุยกับเพื่อน และติดต่อนักข่าวมาทำข่าวเพื่อขอความช่วยเหลือ เพราะตอนนั้นตนเครียดมาก และเมื่อมีการออกข่าวไปทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงทราบข่าว และทรงรับตนเป็นคนไข้ในพระอุปถัมภ์ ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีของตน เพราะทำให้ตนได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล รพ.เทศบาลนครนครศรีธรรมราช ก่อนที่จะถูกส่งต่อมารักษาที่ รพ.จุฬาฯ เมื่อช่วงเดือน ส.ค.ปี 2553 ทำให้ตนมีน้ำหนักลดลงเหลือ 91 กก. และสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น